Scottish Universities Alumni | Nan

Scottish Universities Alumni
Wanchana Tanurat (Nan)
MSc Finance and Economics Development
University of Glasgow
"รีวิวเรียนต่อ MSc Finance and Economics Development ที่ University of Glasgow

Nan - Wanchana Tanurat
จบปริญญาตรี BSc Industrial Chemistry, Kasetsart University และปริญญาโท Master of Economics, Chulalongkorn University ได้ทุน Chevening ไปเรียน MSc Finance and Economics Development, University of Glasgow
ปัจจุบันทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สายกำกับสถาบันการเงิน

ตอนที่ตัดสินใจไปเรียน ทำไมถึงเลือกคอร์สนี้และมหาวิทยาลัยนี้คะ
เลือก University of Glasgow เพราะว่า Ranking ทางด้าน Finance กับ Economics ถือว่าดีครับ แล้วก็ชอบประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยด้วย อย่างช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยดังมากเลย มีคนเก่ง ๆ เยอะทั้งทางสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิศวกรก็เยอะครับ อีกอย่างคือชอบสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยครับ และ Glasgow เป็นเมืองที่มีขนาดกำลังพอดี ไม่ใหญ่หรือเล็กไป ประชากรประมาณเกือบล้านคน มีหลายเหตุผลมากเลยครับ (หัวเราะ) ก่อนหน้านี้ก็หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวเลยครับ ลองหาใน Google Map ดูบรรยากาศก็รู้สึกชอบครับ

ถ้าให้เลือกวิชาที่เรียนแล้วชอบที่สุด มีวิชาอะไรบ้างคะ และชอบเพราะอะไร
  • ผมชอบวิชาทางด้านพัฒนาครับ ชื่อวิชา Growth and Development เป็นวิชาบังคับที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เหมาะสำหรับคนที่เรียนในเชิงนโยบายครับ ซึ่งก็ตรงกับหลักสูตรที่เรียน ไม่ใช่หลักสูตรที่มีการคำนวณเหมือน Investment หรือ Financial Forecasting ครับ วิชานี้จะเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละประเทศว่าใช้ Model ในการพัฒนาเศรษฐกิจยังไง เป็น Model เชิงนโยบาย เน้นการนำเข้าส่งออก การพัฒนาคน การเปิดหรือปิดประเทศเพื่อใช้พัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง ทำให้เราเห็นวิธีที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทั้งทำสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่าเป็นยังไงบ้าง และใช้ได้ผลจริงมั้ย
  • ผมเป็นคนชอบวิชาคำนวณครับ ถึงแม้สาขาที่เลือกเรียนจะเป็นเชิงนโยบายที่ไม่ได้ใช้ Math หรือ Math Model เยอะขนาดนั้น ก็เลยเลือกวิชาเลือกที่เป็นคำนวณเกือบหมดครับ เช่นวิชา Project Planning, Appraisal and Implementation ที่เป็นการประเมินโครงการ ก็มีการคำนวณเยอะครับ อีกตัวหนึ่งคือวิชา International Finance ครับ

คอร์สนี้เป็นยังไงบ้างคะ เหมาะกับคนที่มีพื้นฐานด้านไหนมา
ถ้าเคยเรียน Economics มาก็จะได้เปรียบ แต่ถ้าไม่มีพื้นฐานเลยก็ยังพอได้อยู่ครับ เขาไม่ได้ลงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ลึกมาก ช่วงแรกจะเป็น Technical Terms และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน นักเรียนจะต้องพอรู้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เรื่องเศรษฐกิจมหภาคมาก่อนว่าประเทศมี Consumption Investment, Government Spending, Export, Import ที่คิดเข้ามาเป็น GDP ยังไง ตรงนี้ถ้ามีพื้นฐานมาก็จะเรียนได้ดีครับ ซึ่งเพื่อน ๆ ในคลาสส่วนใหญ่จบ Economics หมดเลย ไม่อย่างงั้นก็จะจบ Business ทุกคนเลยมีพื้นฐานมาพอสมควร หลักสูตรนี้มีคนเรียนน้อยครับ รุ่นผมมีประมาณ 14 คนเลยค่อนข้างรู้จักกันหมด พอมี Assignment มาแล้วได้คุยกันในห้อง ทำให้รู้เลยว่าแต่ละคนมีความรู้มาอยู่แล้ว

คอร์สนี้มีสัดส่วนการเรียนการสอนเป็นยังไงบ้างคะ เน้นที่ Assignment, ข้อสอบ หรือ Lecture มากกว่ากันคะ
Assignment ประมาณ 20% ครับ จะเน้นสอบมากกว่า โดยที่ Mid-Term กับ Final รวมกัน 80% ครับ เป็นแบบนี้เกือบทุกวิชาเลย ส่วนงาน Assignment ก็มีทำทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว ส่วนใหญ่เป็นงานเดี่ยว มีวิชาเดียวคือ Development Policy ที่ทำงานกลุ่มครับ เพราะวิชานี้เน้นวิธีการ ต้องใช้ความคิดเยอะครับ

เพื่อน ๆ ใน Class ส่วนใหญ่มาจากไหนกันคะ
ส่วนใหญ่เป็นคนจีน มี 5 คนครับ ฝรั่ง 3 คน มาจากแอฟริกา 2 คน แล้วก็คนเอเชียรวม ๆ กัน มีแนนเป็นคนไทยคนเดียวตลอดทุกวิชาเลยครับ (หัวเราะ) บางหลักสูตรมีคนจีนเกินครึ่งเลย คอร์สผมก็ถือว่ามีไม่เยอะ วิชาส่วนใหญ่เรียนกับเพื่อนสาขาอื่นด้วยครับ อย่าง International Finance จะมีคนจีนประมาณ 90% เลย แล้วผมไปเรียนเป็นวิชาเลือกในเทอม 2 ในขณะที่คนไทยที่เรียน International Finance เป็นวิชาบังคับในเทอม 1 แนนก็เลยไม่เจอคนไทยครับ

หลักสูตรนี้มีวิชาบังคับ 3 ตัวและวิชาเลือกอีก 3 ตัวใช่มั้ยคะ มีการแบ่งการเรียนในแต่ละเทอมเป็นยังไงบ้างคะ
เทอมแรกเรียนวิชาบังคับ 2 ตัว แล้วก็อยู่ในเทอม 2 อีก 1 ตัวครับ ส่วนวิชาเลือกก็จะขึ้นอยู่กับเราเลยว่าวิชาที่จะลงเรียนทับกับวิชาบังคับมั้ย และวิชาที่เราอยากลงเปิดเทอมไหนบ้าง อย่างเทอมแรกแนนก็เรียนวิชาเลือก 1 ตัว ก็จะเป็นเทอมละ 3 ตัว พยายามจัดตารางตัวเองให้ดีครับ จริง ๆ มีวิชาที่อยากเลือกเพิ่มอีก แต่บางครั้งไม่เปิดสอนในเทอมที่อยากเรียนครับ ถ้าดูจากตารางเรียนจะดูโล่งมาก อาทิตย์หนึ่งเรียนแค่ 3 คาบ คาบละ 2-3 ชั่วโมง แต่จะหนักตรงที่เราต้องอ่านเพิ่มเองตาม References นอกเหนือจากที่อาจารย์สอน ซึ่งจะใช้เวลาเยอะมากครับ ดังนั้นเวลาอาจารย์สั่ง Assignment มา รู้สึกว่าต้องหาให้เยอะกว่านี้ครับ ยิ่งเวลาคุยกับเพื่อนแล้วเพื่อนพูดถึงประเด็นน่าสนใจที่เราไม่เคยรู้มาก่อน มันทำให้เราต้องพยายามอ่านให้เยอะขึ้นครับ แต่ถ้าเป็นวิชา International Finance ที่เน้นการคำนวณ แทบจะไม่ต้องอ่านเพิ่มเลย ดูตัวอย่างจากอาจารย์แล้วเราก็ลองมา Prove สมการครับ แต่จะมีบทท้าย ๆ ที่ให้อ่านคือเรื่องการเงิน อย่างเช่น Euro Currency ครับ เป็นวิชาที่ดูเหมือนจะหนักแต่ผมว่าสบายกว่าวิชาอื่น แต่ถ้าใครที่สนใจแนว Policy มากกว่า ก็มีวิชาเลือกทางด้านนี้เยอะและน่าเรียนด้วย เช่นวิชา IMF, World Bank and Economic Growth ที่ศึกษาเกี่ยวกับ IMF หรือ World Bank ว่ามีบทบาทขององค์กรเป็นยังไงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและรวมไปถึงอนาคตครับ แต่ว่าอาจารย์คนสอนเป็นคนเดียวกับที่สอนวิชา Financial Institutions and Markets in Developing Countries ที่โหด ๆ ครับ เลยไม่ได้ลงเรียน (หัวเราะ) แต่วิชาพวกนี้ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ทำงานในองค์กรอย่างผมครับ แล้วก็จะมีวิชา Aid and Development ที่คนแอฟริกันลงเรียนเยอะมาก เพราะคอร์สนี้จะกล่าวถึงเรื่องการช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพราะประเทศในทวีปแอฟริกาเขารับการช่วยเหลือเยอะ ว่าการช่วยเหลือมีกี่แบบ เงื่อนไขเป็นยังไง องค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยเหลือมีอะไรบ้างประมาณนี้ครับ

สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในการเรียนเป็นยังไงบ้างคะ
ผมจะมีเรียนรวมกับเพื่อนสาขาอื่นด้วยครับ อย่าง International Finance ผมว่ามีเกิน 100 คนเลย ตอนสอบ Final ได้ไปสอบใน Hall ใหญ่เลยครับ แล้วก็มีหลาย Section ด้วย ส่วนวิชาที่เรียนเฉพาะนักเรียน Finance and Economics Development ก็จะน้อยลงมาครับ มีวิชาบังคับ Financial Institutions and Markets in Developing Countries ที่ขึ้นชื่อว่าโหดมาก คนเลยจะมาเลือกวิชานี้น้อย มีประมาณ 20 คนเองครับ อาจารย์ที่สอนวิชานี้มี Expectation สูงครับ มีสอบครั้งเดียวคือ Final เลย อาจารย์มี 2 คนแบ่งกันสอนครึ่งแรกกับครึ่งหลังครับ อาจารย์คนแรกสอนเสร็จก็จะให้เราทำ Assignment แล้วพออาจารย์คนที่สองมาสอนก็จะเป็นสอบ Final โดยข้อสอบจะให้นักเรียนเลือกทำ 3 ข้อจาก 6 ข้อครับ ส่วนใหญ่ก็เลือกทำข้อที่ออกโดยอาจารย์คนที่สองครับ เพราะเห็นคะแนนที่ทำ Assignment จากอาจารย์คนแรกไปแล้ว เรารู้สึกว่าอาจารย์เขาต้องการให้เราอ่านเยอะมาก ลักษณะวิชาเป็นเชิงนโยบายที่เราต้องอ่านบทวิเคราะห์วิจารณ์ โดยเราต้องจำชื่อนักวิเคราะห์อย่าง Hyman Minsky ด้วย ต้องจำว่าทำไมวิกฤติการณ์ Hamburger ถึงเกิดขึ้น มีมุมมองว่ายังไงครับ ตอนนั้นที่ทำ assignment แนนได้ D เลยครับ พอตอนสอบ Final เลยเลือกทำข้อสอบของอาจารย์คนที่สอง ได้ B มาครับ เพื่อนส่วนใหญ่ Active พอสมควรครับ เวลานัดคุยกัน แต่ละคนก็จะเตรียมหัวข้อมาคุยกัน ในหลักสูตรที่ผมเรียนมีนักเรียนที่ได้ทุน Chevening จากแอฟริกาด้วย ซึ่งคนนี้จะเก่งมาก เวลาทำ Assignment ก็จะช่วยกันเรียนครับ เราต้อง Active ตลอด เพราะถ้าไปนั่งรับสารอย่างเดียว ไม่ช่วยคิดหรือออกความเห็นอะไรก็อาจจะถูกมองไม่ดีได้ครับ บรรยากาศในการเรียนผมว่าดีเลยครับ เวลาเรียนในห้องจะเห็นเพื่อนยกมือถามอาจารย์ตลอด ทำให้เรากล้าถามไปด้วยครับ แต่ก็ผ่อนคลายนะครับ เพราะอาจารย์ใจดี

อาจารย์แต่ละท่านเป็นยังไงบ้างคะ Support เรายังไงหรือเข้าหาง่ายมั้ย
             ผมไม่ค่อยได้เข้าไปถามอาจารย์เท่าไหร่ครับ เท่าที่เห็นเพื่อนไปถามมาก็สามารถไปถามได้เรื่อย ๆ นะครับ แล้วผมก็ถามเพื่อนอีกทีว่าสรุปแล้ว Assignment นี้ต้องการอะไร โดยรวมก็คือติดต่ออาจารย์ได้ปกติครับ แต่ที่จะยากหน่อยคืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เพราะเขาจัดหาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอื่นมา บางคนก็ได้อาจารย์ดีสามารถติดต่อได้ง่ายหรือไปหาที่มหาวิทยาลัยได้ ผมได้อาจารย์ที่มาจาก University of the West of Scotland แต่ผมติดต่ออาจารย์แทบไม่ได้เลย ส่ง email ก็ไม่ค่อยตอบ ได้นัดคุยกับอาจารย์น้อยมาก เพราะอาจารย์เขาดูแลนักเรียนประมาณ 10 คน ซึ่งจะนัดทุกคนมาพร้อมกันแล้วถามทีละคนเลยครับ

Dissertation ยากไหมคะ
             ผมจบปริญญาโทมาแล้วใบหนึ่งเลยไม่มีปัญหามากครับ เท่าที่ทราบ คนที่ไม่เคยมีพื้นฐานการทำ Dissertation มาก็บ่นนะครับ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง ใช้วิธีอะไรในการวิเคราะห์ เครื่องมือหรือโปรแกรมอะไรที่ต้องใช้ ส่วนคนที่ไม่เน้นวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคือเน้นการเขียน เขาก็ไม่รู้จะอ่านในแง่มุมไหน เพื่อรวบรวมเขียนเป็นเล่มครับ แล้วก็จะมีปัญหาเรื่องติดต่ออาจารย์ไม่ได้ครับ (หัวเราะ) ผมเองรู้ตัวอยู่แล้วว่าถนัดการคำนวณ ผมก็จะหาข้อมูลตัวเลขมาให้ได้แล้วนำเข้าโปรแกรมเพื่อ Run ผลลัพธ์ออกมา

การทำ Dissertation ใบแรกกับใบที่สองแตกต่างกันมั้ยคะ
             ตอนที่ทำใบแรกผมทำที่เมืองไทยครับ ตอนนั้นเรียนที่จุฬาฯ ก็คุยกับเพื่อนได้เพราะทำหัวข้อคล้าย ๆ เราหรือมีอาจารย์ที่ปรึกษาคนเดียวกัน ทำให้รู้สึกว่ามี Buddy ครับ ตอนเรียนที่ University of Glasgow จะกำหนดมาเลยว่าให้เขียน 15,000 คำ ภายในระยะเวลา 3 เดือน ความยากอยู่ตรงที่เราจะเขียนยังไงให้ถูกใจคณะกรรมการ แต่สำหรับตอนเรียนที่จุฬาฯเหมือนเราเขียนไปเรื่อย ๆ ผมใช้เวลาเขียนวิทยานิพนธ์ 1 ปีเลยครับ ก็ยากกันคนละแบบ

สำหรับเรื่องหัวข้อ Dissertation คือคิดมาก่อนแล้วหรือว่าพอได้มาเรียนแล้วถึงคิดเป็นหัวข้อใหม่คะ
             คิดใหม่ครับ ตอนเรียนเทอมแรกเขาจะมีวิชาที่เกี่ยวกับการเขียน Dissertation ที่บังคับให้เรียนแต่ไม่มีหน่วยกิต ซึ่งจะช่วยปูพื้นฐานการเตรียมพวก Research Methodology ครับ ถึงแม้จะเป็นเทอมแรก แต่ระหว่างนี้ก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะทำประมาณไหนครับ แล้วก็เริ่มหา Paper หรือ References ต่าง ๆ ที่อยู่ท้ายเอกสารการสอนของอาจารย์ว่ามีงานวิจัยใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับหัวข้อที่อยากทำบ้างมั้ย พอเทอมสองก็จะสอนลึกลงอีก อย่างเช่นการใช้เครื่องมือหรือ Run Model ครับ แล้วก็จะให้เราส่ง Proposal ความยาวประมาณ 2 หน้า ภายในเทอมสองหลังจากนั้นก็จะคัดเลือกอาจารย์มาให้เราแล้วประกาศผลตอนเทอมสามครับ

มหาวิทยาลัยมี Service ช่วยดูหรือหาที่ฝึกงาน หรือทำ Project กับบริษัทไหมคะ
             หลักสูตรผมไม่มีนะครับ แต่จะมีวิชา Foreign Direct Investment and Development (FDI) ที่พาไปทัศนศึกษาบริษัทใน Edinburgh ครับ เป็นบริษัทที่เกี่ยวกับการ Consult ทางด้านธุรกิจ ได้ไปฟังเขาบรรยายเรื่องธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Technology และการส่งออกนำเข้าครับ

ความรู้และประสบการณ์อะไรบ้างที่ได้มาจากการไปเรียน คิดว่ามีประโยชน์และได้ใช้กับการทำงานได้มากน้อยแค่ไหนคะ
มีประโยชน์พอสมควรครับ ผมก็เลือกเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานของเราอยู่แล้ว บางวิชาทำให้เราเสนอว่ามีทฤษฎีหรือข้อมูลแบบนี้อยู่นะ ในส่วนที่คนอื่นในที่ทำงานอาจจะไม่เคยเรียนมาได้ ถือว่าเอามาใช้ในงานได้พอสมควร แล้วก็ดูตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ด้วยครับ

ความประทับใจอะไรเกี่ยวกับการไปเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้บ้างคะ
  • ผมว่า Glasgow เป็นเมืองที่อบอุ่นนะ มีทุกอย่างครบ มีกิจกรรมให้ทำเยอะมาก แล้วก็ไม่เหงาครับ อย่างเช่นมีพิพิธภัณฑ์ดี ๆ สวนสาธารณะ ร้านอาหาร แหล่ง Shopping ก็เยอะ แล้วระบบการขนส่งในเมืองก็สะดวกสบายครับ มีทั้งรถบัส รถใต้ดิน ปั่นจักรยานก็ง่าย
  • อีกอย่างหนึ่งคือตัวมหาวิทยาลัยครับ สถาปัตยกรรมสวยงาม ทำให้เวลาเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัยแล้วเรารู้สึกมีพลังและมีความตั้งใจครับ บริเวณรอบ ๆ มหาวิทยาลัยดีด้วยครับ มีแม่น้ำสายเล็ก ๆ ล้อมรอบ สวนสาธารณะก็อยู่ข้าง ๆ เลย ทำให้เราไปผ่อนคลายตรงนั้นได้ครับ
  • ผมประทับใจห้องสมุดที่ University of Glasgow ด้วยครับ ห้องสมุดใหญ่มาก สูง 12 ชั้นครับ และมีหนังสือเยอะมาก Facilities ดีครับ มี Computer ให้ใช้ ห้องน้ำเพียงพอ แต่ไม่เคยมีที่ว่างเลยครับ (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นโรงอาหารหรือส่วนกลางอื่น ๆ ก็ถือว่าดีครับ ไม่แออัด การบริการมีประสิทธิภาพครับ Sport Complex ก็กว้างครับ อุปกรณ์เยอะ
  • การได้ปั่นจักรยานในเมืองก็ดีมากครับ ผมซื้อจักรยานมือสองมาเพราะหอผมไม่ได้อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยครับ ผลทุน Chevening ออกช้าเลยทำให้หอที่อยู่บริเวณมหาวิทยาลัยเต็มหมด หอผมอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยประมาณ 10 กิโลเมตรได้เลยครับ แต่ว่าติดแม่น้ำ ซึ่งถนนเลียบแม่น้ำเขาทำไว้ให้สำหรับปั่นจักรยานและเดินเล่นโดยเฉพาะ ถ้าวันไหนอากาศดีผมก็ปั่นจักรยานเลียบแม่น้ำไปมหาวิทยาลัย ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีครับ แต่ก็ปั่นไปชมวิวไปเพลิน ๆ นะ ช่วงใกล้ถึงมหาวิทยาลัยที่เป็นเนินผมก็จูงจักรยานเดินเอาครับ
  • คุณภาพอากาศดีครับ คืออากาศบริสุทธิ์ ฝุ่นควันน้อย ใกล้มหาวิทยาลัยก็มีสวนสาธารณะ แต่สภาพอากาศจะแปรปรวนหน่อยครับ บางทีก็แดดออกแล้วเดี๋ยวก็ฝนตก ก็สังเกตว่าทำไมคนในพื้นที่ไม่ได้ใช้ร่มกัน พออยู่ไปสักพักก็เข้าใจว่าร่มหักหมดครับเพราะลมแรงมาก

สิ่งที่คิดไว้ก่อนมาเรียนกับสิ่งที่ได้มาเจอเองแตกต่างกันมั้ยคะ
ผมว่าไม่ต่างกันครับ นอกจากเรื่องบรรยากาศที่บอกไป ก็จะเป็นเรื่องวิชาการครับ อาจารย์ไม่ได้เน้นสอนตาม Text เท่าไหร่แต่ให้เป็น References ตามอ่านเพิ่มครับ อาจารย์เขาจะสอนจาก Paper ที่เป็นปัจจุบัน คือเอางานวิจัย 5-10 ปีย้อนหลังมาสอนเราครับ อย่างเช่นวิชา FDI ส่วนตัวเมือง Glasgow นี่ตอนแรกผมว่าไม่น่าจะมีอะไรมาก แต่พอมาอยู่จริง ๆ แล้วคึกคักกว่าที่คิด โดยเฉพาะถนนแถว Buchanan นี่คนเยอะตลอดเวลาเลยครับ มีกิจกรรมบ่อยด้วยครับ

University of Glasgow ถือว่าเป็นที่แรก ๆ เลยที่มี School of Economics ความเก่าแก่ตรงนี้มีผลมากน้อยแค่ไหนกับหลักสูตรที่เรียนในปัจจุบันคะ
ถือว่าเป็น School of Economics ที่เก่าแก่นะครับ และมีคนดังในสายเศรษฐศาสตร์เยอะ ตอนที่ผมไปเรียนปีที่แล้ว รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยกำลังลงทุนเพื่อดัน Ranking ให้สูงขึ้น อย่างปีที่ผ่านมา ตาม The Complete University Ranking แล้ว University of Glasgow เป็นอันดับหนึ่งด้าน Accounting and Finance แต่ Rank ทาง Economics อาจจะยังไม่ดีเท่าไหร่ ซึ่งผมก็เห็นความพยายามของมหาวิทยาลัย เขาก็หาอาจารย์เก่ง ๆ มาจากหลายเชื้อชาติ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี มีจัดสัมมนาหรือ Conference ค่อนข้างบ่อยโดยเชิญคนดังมาพูดเพื่อ Inspire นักเรียน ผมก็เข้าร่วมบ้างตามเวลาที่ว่าง ตอนนั้นเห็นว่ากำลังสร้างสถาบันที่จัดการเรื่องวิจัยอยู่ด้วยครับ

คิดว่าคอร์สนี้เหมาะกับใครบ้างหรือคนที่ทำงานแนวไหนคะ
ในแง่เนื้อหาวิชาที่จะเอาไปใช้ต่อได้ก็จะเหมาะกับงานที่ทำเกี่ยวกับนโยบาย วางแผน นโยบายสาธารณะ นโยบายภาครัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ หลักสูตรนี้อาจจะไม่ได้ทำให้เราเป็นนักการเงินหรือผู้บริหารกองทุนขนาดนั้น คือให้ภาพรวมของระบบเศรษฐกิจและการเงิน ให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาครับ ในความคิดของผมนะครับ คนที่จะนำเนื้อหาตรงนี้ไปใช้น่าจะเป็นภาครัฐมากกว่า เพราะคนที่จะพัฒนาเศรษฐกิจหรือธนาคารเพื่อการพัฒนา น่าจะต้องเป็นการวางแผนมาจากภาครัฐก่อนครับ หลักสูตรนี้ก็จะสอนให้มองทุกอย่างเป็นภาพรวมครับ ไม่ได้เจาะจงธุรกิจ แต่จะทำให้รู้ว่าแต่ละอย่างมีบทบาทอะไรบ้างและมีช่องทางในการพัฒนายังไง ถ้าเป็นภาคเอกชนเขาน่าจะเน้นการบริหาร Portfolio เน้นการทำกำไรและเพิ่มประสิทธิภาพครับ

ถ้าเรียนจบคอร์สนี้แต่อยากทำงานทางด้านการเงิน อันนี้คิดว่ายังไงคะ
ขึ้นอยู่กับวิชาเลือกครับ เพราะวิชาหลักจะเป็นทฤษฎีหมดเลย ไม่ได้เป็นเรื่อง Financial Management ขนาดนั้น ถ้าทำงาน Field Finance ทำงานธนาคาร บริหาร Portfolio ก็ต้องเลือกวิชาที่เกี่ยวข้องหน่อยครับ

มีอะไรอยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังสนใจเรียนต่อคอร์สนี้หรือที่สก็อตแลนด์บ้างมั้ยคะ
ถ้าจะไปเรียนก็ฝากว่าให้ใช้ทุกนาทีให้คุ้มค่าครับ เรียนเต็มที่ แต่ก็ต้องมีเวลาไปทำกิจกรรม เรียนรู้วัฒนธรรมในเมือง Glasgow ด้วยครับ อย่ามัวพะวงกับเรื่องเรียนอย่างเดียว ใช้ชีวิตให้เต็มที่แล้วกันครับ มหาวิทยาลัยไม่ได้เคี่ยวอะไรมาก แต่เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราเองให้ดี แล้วก็พัฒนาทักษะการทำอาหารไทยมาก่อนด้วยก็ดีครับ (หัวเราะ) เดือนแรกก็ Enjoy อยู่ครับ แต่อยู่ไปสักพักก็เริ่มเบื่ออาหารที่นั่นครับ แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องวัตถุดิบครับ ร้านเอเชียมีขายทุกอย่างเลย
 
สำหรับน้องๆที่สนใจเรียนต่อด้าน Finance and Economics Development ​ หรือสมัครเรียนที่ University of Glasgow สามารถลงทะเบียนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้านล่างนี้เลยค่ะ"

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

CAPTCHA security code
*แมคดูเคชั่น สถาบันส่งเสริมการศึกษาต่อสก็อตแลนด์
ก่อตั้งขึ้นโดยศิษย์เก่าสก็อตแลนด์ และเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยสก็อตแลนด์ทุกแห่ง ที่เดียวในประเทศไทย แมคดูเคชั่นมีทีมที่ปรึกษาที่เป็นศิษย์เก่าและอดีตเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยต่างๆในสก็อตแลนด์ ได้รับความสนับสนุนทางการเงินโดยตรงจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐ นักเรียนสามารถขอรับคำแนะนำจาก McDucation โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกขั้นตอน